การทดลองขับครั้งนี้ถือเป็นสัมผัสแรกของทีมงานที่จะได้รับรู้ถึงสมรรถนะในเบื้องต้นของ TOYOTA C-HR ซึ่งมีชื่อย่อมาจาก COUPE HIGH RIDER รูปทรงจึงมีความโค้งมนลาดเลเหมือนรถคูเป้แต่ยกสูงในสไตล์ซับคอมแพคเอสยูวีเรือนร่างสันทัดไม่ใหญ่หรือเล็กจนเกินไป สำหรับเส้นทางที่ใช้ทดลองขับทางโตโยต้าจัดให้สื่อมวลชนบินลัดฟ้าจากกรุงเทพฯสู่สนามบินลำปาง แล้วขับลัดเลาะตามสภาพเส้นทางคดโค้งขึ้นลงเขาเป็นส่วนใหญ่ผ่านไปยังจังหวัดแพร่มุ่งสู่จุดหมายปลายทางที่จังหวัดน่าน รวมระยะทาง 220 กิโลเมตร
TOYOTA C-HR ถือเป็นรถยนต์เซ็กเมนต์ใหม่ที่โตโยต้าขึ้นไลน์ประกอบออกจำหน่ายอย่างจริงจังในประเทศไทย หลังจากรถรุ่นนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในตลาดทั่วโลกรวม 51 ประเทศ ด้วยยอดขายสะสมกว่า 283,000 คัน การออกแบบและพัฒนารถรุ่นนี้ยังเป็นการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของรถยนต์นั่งของโตโยต้าทั้งด้านรูปลักษณ์ใหม่ที่ล้ำสมัยมากขึ้น และโครงสร้างพื้นฐานตัวรถที่ถูกพัฒนาขึ้นใหม่ให้ความแข็งแกร่งของตัวถังมากขึ้นพร้อมพัฒนาระบบกันสะเทือนใหม่ให้การรองรับที่นุ่มนวลและยึดเกาะถนนดีกว่ารถยนต์นั่งรุ่นที่ผ่านๆมา
TOYOTA C-HR ชูจุดเด่นด้วย 4 เทคโนโลยีใหม่ที่ควรรู้ อันได้แก่ ระบบไฮบริดเจเนอเรชั่นที่4ได้รับการพัฒนาขึ้นใหม่ให้แบตเตอรี่มีขนาดเล็กลง แต่สามารถเก็บประจุไฟฟ้าได้มากขึ้น มีความทนทานและประหยัดน้ำมันได้มากขึ้น โดยมีอัตราการประหยัดน้ำมันสูงถึง 24.4 กม./ลิตร ด้วยการย้ายตำแหน่งของแบตเตอรี่มาไว้ใต้เบาะผู้โดยสารด้านหลังทำให้สามารถระบายความร้อนได้ดีขึ้น, โครงสร้างตัวถังพัฒนาใหม่ TNGA (Toyota Global New Architecture) โดยออกแบบโครงสร้างตัวถังใหม่ให้แข็งแกร่ง (Body rigidity) และมีจุดศูนย์ถ่วงต่ำลง ช่วยลดการโคลงตัวของตัวถัง ทำให้สามารถเข้าโค้งได้อย่างมั่นใจ มีความโดดเด่นเรื่องประสิทธิภาพการเกาะถนน คล่องตัวในทุกจังหวะการขับขี่ รวมถึงการออกแบบห้องโดยสาร เพิ่มทัศนวิสัยของผู้ขับขี่ให้กว้างขึ้นโดยลดจุดอับสายตา พร้อมกับพัฒนาช่วงล่างด้านหลังใหม่แบบอิสระปีกนกคู่ (Double Wishbone Suspension) , ติดตั้งระบบความปลอดภัยใหม่ Toyota Safety Sense รวมระบบความปลอดภัยขั้นสูงไว้ด้วยกัน อาทิ ระบบความปลอดภัยก่อนการชน (Pre-Collision System) ระบบควบคุมและปรับความเร็วอัตโนมัติ (Dynamic Radar Cruise Control) ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ (Automatic High Beams) ระบบเตือนเมื่อออกนอกเลนพร้อมพวงมาลัยหน่วงอัตโนมัติ (Lane Departure Alert with Steering Assist) และสุดท้ายคือการขยับเข้าสู่โลกเทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่ Toyota T-Connect Telematics ด้วยระบบเชื่อมต่อผู้ขับขี่และรถยนต์ ผ่าน Smart phone และ Apple watch พร้อมทั้งเครือข่ายศูนย์ข้อมูลอัจฉริยะ เพื่อรับข้อมูลและความช่วยเหลือตลอดการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็น ระบบนำทาง T-Connect Telematics บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชม. ระบบตรวจสอบตำแหน่งรถยนต์และช่วยค้นหาพิกัดในกรณีที่รถถูกโจรกรรม สัญญาณ Wi-Fi ในรถยนต์ และการลดเบี้ยประกันด้วยโปรแกรม Pay As You Drive insurance เลือกคุ้มครองตามการใช้งานจริงขับมากจ่ายมากขับน้อยจ่ายน้อยลง ฯลฯ
รูปลักษณ์ภายนอกแรกเห็นต้องยอมรับว่าดีไซน์ล้ำสมัยสุดๆต่างจากรถยนต์โตโยต้ารุ่นอื่นๆอย่างชัดเจน รูปทรงตัวถังออกแนวคูเป้ผสมผสานเอสยูวี พร้อมเส้นสายตัวถังที่เป็นเหลี่ยมสันเฉียบคมตลอดคัน ใบหน้าโดดเด่นด้วยชุดไฟหน้าเรียวยาวแบบโปรเจคเตอร์พร้อมไฟส่องสว่างเวลากลางวันแบบ LED บริเวณกระจังหน้าติดตั้งโลโก้โตโยต้าสีดำซ่อนเรดาร์ทำงานร่วมกับกล้องที่กระจกหน้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการประมวลผลการทำงานของระบบความปลอดภัยยุคใหม่ Toyota Safety Sense ที่โตโยต้านำมาใช้เป็นครั้งแรก มุมมองด้านท้ายออกแนวโค้งมนลาดเทแบบรถคูเป้ทำให้รู้สึกกว่าตัวรถมีขนาดเล็กดูไม่ใหญ่บึกบึนแบบเอสยูวีทั่วๆไป ชุดไฟท้ายแบบ LED รูปทรงโค้งเว้ารับกับแนวฝากระโปรงหลังอย่างลงตัว ชายหลังคาติดตั้งสปอยเลอร์หลังพร้อมไฟเบรคดวงที่ 3 แบบ LED และหลังคาผนึกเสาอากาศแบบครีบฉลามตามยุคสมัย และปิดท้ายดูหล่อเรียบด้วยล้อแม็ก 5 ก้านสีบรอนซ์ขนาด 17 นิ้วพร้อมยางขนาด 215/60/R17 สเปคยางเน้นความนุ่ม เงียบ แก้มสูงรองรับแรงกระแทกได้ดีและลุยได้พองาม
ภายในห้องโดยสารมีดีไซน์หรูหรา ทันสมัยในสไตล์รถยุโรป แผงแดชบอร์ดให้ผิวสัมผัสที่นุ่มนวลแต่งด้วยสีทูโทนสีดำตัดสีน้ำตาลเข้ม (เฉพาะรุ่นไฮบริด) เบาะคู่หน้าหุ้มหนังทรงสปอร์ตนั่งได้สบายกระชับสรีระปรับตำแหน่งท่านั่งได้ถนัดดีแม้ไม่มีระบบปรับเบาะไฟฟ้ามาให้ก็ตาม ตำแหน่งผู้ขับขี่สามารถหยิบจับสั่งงานอุปกรณ์ต่างๆได้สะดวกจากการออกแบบให้คอนโซลจะเอียงเข้าหาผู้ขับขี่เล็กน้อย ส่วนเบาะหลังเมื่อเข้าไปนั่งพื้นที่ช่วงวางขามีความกว้างขวางใกล้เคียงรถซีดาน แต่หลังคาที่ลาดต่ำคนตัวสูงจะรู้สึกอึดอัดบ้างกับพื้นที่เหนือศรีษะที่ไม่โปร่งเหมือนรถซีดานหรือเอสยูวีทั่วๆไป และเบาะหลังไม่มีที่วางแขน ไม่มีแอร์หลัง แต่สามารถปรับพับ 60:40 เป็นตัวช่วยในการขนสัมภาระขนาดใหญ่ ส่วนอุปการณ์อำนวยความสะดวกต่างๆจัดให้ครบครัน ทั้งระบบสตาร์ทอัตโนมัต,ระบบเปิดประตู Smart Entry,เบรคมือไฟฟ้าพร้อมระบบหน่วงเบรคอัตโนมัติ,ระบบปรับอากาศอัตโนมัติปรับแยกอิสระซ้าย/ขวา,ระบบกรองอากาศภายในห้องโดยสาร Nanoe ,พวงมาลัยติดตั้งปุ่มควบคุมเครื่องเสียงและปุ่มควบคุมข้อมูลการขับขี่ที่จะแสดงข้อมูลการขับขี่ต่างๆผ่านจอแบบTFTขนาด 4.2 นิ้วติดตั้งบนแผงหน้าปัด แต่สิ่งที่อยากให้เพิ่มเติมคือช่องเสียบ USB ที่มีเพียงช่องเดียวรวมอยู่ในชุดเครื่องเสียงDVDหน้าจอสัมผัสขนาด 7 นิ้ว ถ้าฟังเพลงผ่าน USB ก็จะไม่สามารถชาร์จโทรศัพท์ได้ รถยุคนี้จึงควรมี USBแยกอย่างน้อยสัก 2 ช่องเผื่อผู้โดยสารด้านหลังด้วยก็ยิ่งดี
TOYOTA C-HR รุ่นที่ทดลองขับครั้งแรก คือ รุ่นท็อป HV Hi ราคา1,159,000 บาท มาพร้อมเครื่องยนต์เบนซินแบบ Atkinson Cycle ขนาด 1.8 ลิตร แบบ 4 สูบ รหัส 2ZR-FXE DOHC 16 วาล์ว ให้กำลัง 98 แรงม้า ที่ 5,200 รอบ/นาที แรงบิด 142 นิวตันเมตร ที่ 3,600 รอบ ทำงานรวมกับมอเตอร์ไฟฟ้าที่ได้รับการพัฒนาใหม่ให้แรงดันไฟฟ้าสูงขึ้นถึง 600 โวลต์ กำลังสูงสุด 53 กิโลวัตต์ แรงบิด 163 นิวตันเมตร เมื่อรวมเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าจะให้กำลังรวม 122 แรงม้า แหล่งเก็บพลังงานฟ้าหรือแบตเตอรี่ออกแบบใหม่มีขนาดเล็กลงแต่เก็บพลังไฟฟ้าได้เยอะใช้งานยาวนานขึ้น เป็นแบบ Nickel Metal Hydride - NiMH เก็บประจุไฟฟ้า 6.5 แอมแปร์ 3 ชั่วโมง พร้อมส่งกำลังผ่านระบบเกียร์ E-CVT รองรับเชื้อเพลิงได้ถึง E20 ซี่งเครื่องยนต์บล็อคนี้มีจุดเด่นอยู่ที่ความประหยัดจากการผสมผสานการทำงานของเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าอย่างลงตัว การทดลองขับในครั้งนี้ค่าเฉลี่ยอัตราสิ้นเปลืองต้องบอกว่าสุดยอดใครขับแบบเท้าหนักจัดเต็มตลอดยังทำได้ 18 กม./ลิตร ส่วนคนที่ขับแบบเรื่อยๆแต่ไม่ตกขบวนทำได้สูงสุด 25 กม./ลิตร !
สัมผัสแรกในฐานะผู้ขับไม้แรกจากลำปางข้ามผ่านเส้นทางคดโค้งขึ้นลง-เขาเป็นส่วนใหญ่มุ่งสู่จุดหมายแรกที่พิพิธภัณฑ์บ้านวงศ์บุรีใจกลางเมืองแพร่รวมระยะทาง 110.4 กิโลเมตร เมื่อเข้าไปนั่งให้อารมณ์คล้ายๆการขับรถซีดานกึ่งๆรถสปอร์ต ตำแหน่งการนั่งค่อนข้างต่ำไม่ค่อยเหมือนกับขับรถตัวถังยกสูงแบบเอสยูวีหรือครอสโอเวอร์ เนื่องจากรถรุ่นนี้ออกแบบให้มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำเน้นการขับขี่ที่มั่นคง คล่องตัวสไตล์รถสปอร์ต การปรับตำแหน่งท่านั่งทำได้ถนัดสามารถปรับเบาะสูงต่ำได้ตามสรีระ ทัศนวิสัยมุมมองรอบตัวมองเห็นได้ชัดเจนทั้งด้านหน้า ด้านข้าง รวมถึงด้านหลังที่มีกระจกบานเล็กแต่ก็มองรถที่ตามมาได้ชัดเจน การควบคุมพวงมาลัยพาวเวอร์ไฟฟ้าบนทางตรงจัดว่านิ่งไม่เบาหรือหนักจนเกินไป และแรงสั่นสะเทือนจากพื้นถนนสู่พวงมาลัยเกิดขึ้นน้อย ส่วนทางโค้งเซ็ทพวงลัยได้แม่นยำหักเลี้ยวผ่านโค้งหลายรูปแบบได้อย่างมั่นใจ และจังหวะการเบรคหรือชลอรถจากระบบแม่ปั้มเบรคไฟฟ้าที่ให้การตอบสนองได้ใกล้เคียงกับระบบไฮดรอริคก็เอาอยู่ทุกช่วงความเร็ว สามารถหยุดได้มั่นใจ ซึ่งระบบเบรคในรถรุ่นนี้ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญเรื่องความปลอดภัย เพราะเวลาเรายกคันเร่งเพื่อชะลอความเร็วเครื่องยนต์หลักจะหยุดการทำงานเข้าสู่โหมดไฟฟ้าหรือชาร์จไฟจึงไม่มีเอนจิ้นเบรคหรือมีการปรับลดเกียร์ต่ำช่วยแบบรถเกียร์อัตโนมัติทั่วไป ความเร็วจึงค่อนข้างไหลลื่นไปข้างหน้าได้เร็ว การได้ระบบเบรคที่ดีจึงจำเป็นอย่างยิ่งในเรื่องความปลอดภัย
สมรรถนะของเครื่องยนต์ระบบไฮบริดเจเนอเรชั่นใหม่ ที่ได้รับการพัฒนาให้แบตเตอรี่มีขนาดเล็กลง แต่สามารถเก็บประจุไฟฟ้าได้มากขึ้น และใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนแทนน้ำมันได้ยาวนานมากขึ้น เมื่อชาร์จแบตจากการขับขี่ในโหมดอัตโนมัติใช้ทั้งเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า จนปริมาณแบตเตอร์โชว์บนแผงหน้าปัดเกือบเต็มก็สามารถกดปุ่มเลือกใช้ โหมด EV เพียวได้ที่ความเร็วไม่ 60 กม./ชม วิ่งได้ระยะทางประมาณ 2-3 กม. หลังจากกนั้นก็จะกลับเข้าสู่โหมดขับขี่แบบปกติใช้ทั้งเครื่องยนต์และไฟฟ้าสลับกันเช่นเดิม ในช่วงออกตัวเร็วๆหรือการเร่งแซงกดคันเร่งหนักเครื่องยนต์จะทำงานเต็มประสิทธิภาพ โดยรวมก็ถือว่าเร่งได้เร็วทันใจแต่ขัดใจนิดๆตรงเสียงเครื่องยนต์ที่ค่อนข้างดังเวลาใช้รอบสูงๆ ส่วนการขับขี่เดินทางทั่วๆไปเมื่อเร่งความเร็วด้วยเครื่องยนต์จนความเร็วเริ่มลอยตัวไม่เกิน110 กม./ชม ถ้าอยากประหยัดสามารถถอนคันเร่งนิดนึงเพื่อบังคับให้เครื่องยนต์หยุดการทำงานแล้วแทนที่ด้วยการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าได้นานเท่าที่พลังงานในแบตเตอรี่มีเหลืออยู่ โดยสามารถสังเกตสถานะการทำงานของระบบไฟฟ้าหรือเครื่องยนต์ รวมถึงการชาร์จไฟได้ตลอดเวลาบนแผงหน้าปัดทรงกลมฝั่งซ้าย ซึ่งการแสดงค่าการทำงานของระบบต่างๆจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้งานรถยนต์ไฮบริด
ในการใช้งานยังมีโหมดขับขี่ให้เลือกใช้ทั้งSport และ Eco แต่ละโหมดจะส่งผลต่อการทำงานของเครื่องยนต์ เกียร์และน้ำหนักพวงมาลัยต่างกันเล็กน้อย ถ้าใช้งานทั่วๆไปขับสบายๆควรใช้โหมดEco ก็เพียงพอรองรับการใช้งานได้ครบทั้งการควบคุมรถ ความแรง และที่สำคัญยังได้การประหยัดน้ำมันสูงสุด ส่วนโหมด Sport ลองพอสนุกๆการตอบสนองคันเร่งจะไวขึ้นเพียงแตะคันเร่งเบาๆ ตัวรถก็พร้อมพุ่งทะยานไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น แต่การเปลี่ยนโหมดขับขี่ไม่ค่อยคุ้นเคยเท่าไหร่ เพราะปุ่มกดเพื่อเข้าเมนูจะอยู่ที่ก้านพวงมาลัย ไม่เหมือนรถยนต์รุ่นอื่นที่มักติดตั้งหลังคอนโซลเกียร์ใช้งานได้สะดวกกว่า
ในเรื่องการทรงตัวและยึดเกาะถนนภายใต้พื้นฐานโครงสร้างตัวถังใหม่ TNGA (Toyota Global New Architecture) ที่ออกแบบโครงสร้างตัวถังให้แข็งแกร่งขึ้น และมีจุดศูนย์ถ่วงต่ำลง ช่วยลดการโคลงของตัวถัง พร้อมระบบช่วงล่างที่ปรับเซ็ตมาใหม่ด้านหน้าเป็นแบบแม็กเฟอร์สันสตรัต พร้อมเหล็กกันโคลง และด้านหลังเป็นแบบอิสระปีกนก 2 ชั้น Double Wishbone Suspension โดยรวมต้องขอชื่นชมเพราะให้ความรู้สึกในการขับขี่ใกล้เคียงรถยุโรป สามารถสัมผัสได้ชัดเจนทั้งความนุ่มนวล นั่งสบาย และหนึบแน่น ยึดเกาะถนนได้อย่างมั่นใจมากขึ้นเมื่อเทียบกับรถยนต์โตโยต้ารุ่นอื่นๆ ตรงนี้จึงถือเป็นยุคใหม่ของระบบช่วงล่างของโตโยต้าที่ไว้ใจได้ และเราจะได้สัมผัสกับช่วงล่างรูปแบบใหม่นี้ในรถยนต์นั่งของโตโยต้าที่จะเปิดตัวสู่ตลาดต่อไปในอนาคต !!!
การทำตลาด TOYOTA C-HR มีให้เลือก 4 รุ่น
- 1.8 Entry ราคา 979,000 บาท
- 1.8 Mid ราคา 1,039,000 บาท
- HV Mid ราคา 1,069,000 บาท
- HV Hi ราคา 1,159,000 บาท